วางแผนลงทุน
ในยุคตกต่ำของดอกเบี้ย...กลายเป็น “ฝันร้าย” ของชมรมคนฝากกินดอกเบี้ย ใครที่เคย “ฝันหวาน” เพราะได้นอนกอดดอกเบี้ยเงินฝากสูงราวๆ 14% - 16% ต่อปี อย่างเมื่อ 20 ปีก่อน อาจต้อง “ฝันค้าง” เมื่อตื่นมาเจอโลกแห่งความเป็นจริงที่ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ดำดิ่งลงไปเกือบถึง 0% หักลบกับอัตราเงินเฟ้อแล้วติดลบด้วยซ้ำไป
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่รู้สึกอยู่ตลอดเวลาว่า... ดอกเบี้ยทำให้เงินในกระเป๋าของคุณไม่ออกดอกออกผลอย่างที่ใจคิด ลองเปลี่ยนบรรยากาศไปหาทางเลือกใหม่ๆ บ้างดีไหม เผื่อจะทำให้ ความมั่งคั่งร่ำรวยเฉียดเข้าใกล้ชีวิตคุณบ้าง
สำหรับผู้ลงทุนมือใหม่ หรือหลายๆ คนที่สนใจลงทุน แต่ยังจับต้นชนปลายไม่ถูก ไม่รู้จะลงทุนอย่างไร ไม่รู้จะเริ่มต้นตรงไหน
ลองเริ่มจาก “รู้จักตัวเอง” ให้ลึกซึ้งขึ้นอีกนิด ถามตัวเองให้แน่ใจก่อนว่า “เป้าหมาย” การลงทุนของคุณคืออะไร
ลงทุนเพื่อบั้นปลายชีวิต เพื่อลดหย่อนภาษี เพื่อเอาชนะเงินเฟ้อ หรือเพื่อทำกำไร ฯลฯ
จากนั้นค่อยพิจารณา “เงื่อนไข” ในการลงทุนว่าคุณรับความเสี่ยง ได้แค่ไหนต้องการผลตอบแทน เท่าไหร่ มีเงินลงทุน
มากน้อยเพียงใด หรือมีข้อจำกัดเรื่องระยะเวลาหรือไม่ เพราะสิ่งเหล่านี้แหละที่จะตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดีว่า...
ทางเลือกการลงทุนแบบไหนที่จะเหมาะกับคุณมากที่สุด
เมื่อรู้จักตัวเองมากขึ้นแล้ว คราวนี้ก็ถึงเวลา “รู้จักเครื่องมือ” กันเสียที คำว่า “เครื่องมือ” ในที่นี้ก็หมายถึง “ทางเลือกการลงทุน” นั่นเอง ยิ่งทุกวันนี้มีทางเลือกการลงทุนหลากประเภท หลายสายพันธุ์ ทั้งหุ้นสามัญ พันธบัตร หุ้นกู้ กองทุนรวม ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ และอื่นๆ อีกมากมาย แถมแต่ละประเภทต่างก็มีรายละเอียดและความซับซ้อนที่แตกต่างกันออกไป
ความเข้าใจเกี่ยวกับคุณสมบัติเฉพาะตัว ความเสี่ยง และผลตอบแทน ตลอดจนข้อดีข้อเสียของทางเลือกต่างๆ จึงเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้คุณจัดสรรเงินลงทุนได้อย่างเหมาะสม และสอดคล้องกับเป้าหมายที่ตั้งไว้
เช่นว่า... คุณมีเงินลงทุนอยู่ก้อนหนึ่ง อยากได้ผลตอบแทนสูงหน่อย รับความเสี่ยงได้เยอะเพราะอายุแค่ 28 ปี ถ้าโจทย์เป็นแบบนี้ “หุ้น” อาจเป็นคำตอบของคุณ แต่ถ้าคุณบอกว่าอยากเสี่ยงน้อยหน่อย ผลตอบแทนไม่ต้องสูงมากก็ได้ “พันธบัตร” หรือ “หุ้นกู้” ก็อาจจะเหมาะกับคุณมากกว่า
สุดท้าย นอกจากรู้จักตัวเองและรู้จักเครื่องมือในการลงทุนแล้ว ก็ต้อง “รู้จักจังหวะลงทุน” ด้วย เพราะการรู้และเข้าใจเกี่ยวกับปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ การเมือง สังคม จิตวิทยามวลชน หรือปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลกระทบต่อทิศทางการลงทุน จะทำให้คุณสามารถกำหนดกลยุทธ์การลงทุนในภาวะตลาดที่แตกต่างกัน รวมถึงสามารถโยกย้ายเงินลงทุนไปยังทางเลือกอื่นๆ ที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าในแต่ละช่วงเวลาได้อย่างเหมาะสมด้วย
สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ลืมไม่ได้เลย ก็คือ ในโลกนี้ไม่มีอะไรได้มาฟรีๆ ดอกผลจากการลงทุนที่งอกเงยกว่าเงินฝากจึงมาพร้อมกับ “ความเสี่ยง” ที่เพิ่มขึ้น
แต่คุณสามารถจัดการกับความเสี่ยงเหล่านี้ได้ด้วยการ “จัดสรรเงินลงทุน” (Asset Allocation)
ไปในทางเลือกการลงทุนหลายๆ ประเภท ดังกฎเหล็กการลงทุนที่ว่า “Don’t put all eggs in one basket”
แปลง่ายๆ คือ “อย่าใส่ไข่ทั้งหมดไว้ในตะกร้าใบเดียว” ซึ่งบรรดาผู้ลงทุนทั้งหลาย
ทั้งผู้ลงทุนชั้นเซียนหรือมือใหม่น่าจะคุ้นเคยกันดีและท่องจำได้ขึ้นใจ
เพราะไม่ว่าจะตำราหรือคัมภีร์ลงทุนเล่มไหนก็ย้ำนักย้ำหนาว่าให้ “กระจายความเสี่ยง” (Diversification)
เหตุผลที่ไม่ควรทุ่มเงินไปกับการลงทุนประเภทใดประเภทหนึ่งมากเกินไป เพราะหากผลลัพธ์ไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ คุณอาจสูญเสียเงินทั้งหมดในคราวเดียวกัน แต่หากคุณรู้จักจัดสรรการลงทุนอย่างเหมาะสม โดยพิจารณาถึงความสัมพันธ์และทิศทางการขึ้นลงของราคาที่แตกต่างกัน การขาดทุนจากการลงทุนประเภทหนึ่ง อาจถูกชดเชยด้วยกำไรจากการลงทุนอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งนอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงได้แล้ว ยังช่วยให้คุณได้รับผลตอบแทนรวมที่ไม่ขี้เหร่จนเกินไปด้วย
อย่างไรก็ตาม การกระจายความเสี่ยงต้องตั้งอยู่บน “ความพอดี” ทุกวันนี้มีผู้ลงทุนจำนวนไม่น้อยที่มุ่งมั่นกระจายความเสี่ยงอย่างตั้งอกตั้งใจและจริงจังจนล้ำเส้นความพอดี มีหุ้นตัวเล็กตัวน้อยซุกไว้จนนับไม่ถ้วน หรือหว่านซื้อกองทุนเยอะเป็นดอกเห็ด แทนที่จะช่วยกระจายความเสี่ยงในการลงทุนได้ กลับกลายเป็นไม่สามารถดูแลพอร์ตได้อย่างทั่วถึง และอาจส่งผลร้ายกับเงินลงทุน
ทางที่ดี... ควรเดินบนทางสายกลาง หาความพอดิบพอดีให้พอร์ตการออมและการลงทุนของตัวคุณเอง เพียงแค่นี้ก็ช่วยกรองความเสี่ยงได้ระดับหนึ่งแล้ว
ประกันชีวิตควบการลงทุน ก็เป็นเครื่องมือทางการเงินอีกตัวนึงที่สามารถเน้นการวางแผน คุ้มครอง ผลตอบแทนในกองทุนรวม และการส่งต่ออย่างมีประสิทธิภาพ ที่รวมอยู่ในกรมธรรม์เดียวได้ และข้อดีอีกประการคือ กรมธรรม์ จะถูกออกแบบมาให้ ชำระเบี้ย เป็นปีๆ ซึ่งสอดคล้องกับกลยุทธ์อันนึงที่ชื่อว่า DCA (Dollar Cost Averaging) คือการซื้อแบบถัวเฉลี่ย แพงก็ซื้อ ถูกก็ซื้อ แล้วให้เวลาเป็นตัวกระจายความเสี่ยง เราก็จะสามารถคาดการณ์ผลตอบแทนได้ ตามค่าเฉลี่ยนใน Fund Fact Sheet ของแต่ละกองทุน