8 เรื่องการเงินที่ควรรู้ ถ้าคุณอยากมีอิสรภาพทางการเงิน

1199 จำนวนผู้เข้าชม  | 

8 เรื่องการเงินที่ควรรู้ ถ้าคุณอยากมีอิสรภาพทางการเงิน

ยุคสมัยทุกวันนี้ ค่าครองชีพสูง น้ำมันแพง ค่าเน็ต ค่าน้ำค่าไฟค่าโทรศัพท์ และค่าใช้จ่ายทั้งหลาย เพิ่มขึ้นอย่างกับเงาตามตัว แต่ค่าแรงที่ได้มาไม่มีทีท่าว่าจะเพิ่มตามเสียเลย และที่สำคัญ เมื่อไรก็ตามที่ใครสักคนบอกความฝันว่าอยากจะมีเงินล้านสักก้อน รับประกันได้ว่าต้องมีหลายคนบอกว่า "เพ้อ"   แต่เดี๋ยวก่อน!!!! อย่าเพิ่งน้อยใจไปครับ เพราะฝันของเรานั้นอาจจะเป็นจริงได้ง่ายๆ  ที่สำคัญไม่ใช่แค่เงินล้าน แต่มันคือ "อิสรภาพทางการเงิน" กันเลยทีเดียว   เพียงแค่เรารู้จักกับสิ่งที่เรียกว่า "การวางแผนทางการเงิน" และในวันนี้ @TAXBugnoms ได้รวบรวมเรื่องราวดีๆ สำหรับวิธีการวางแผนการเงินที่ควรทำเพื่อที่เราทุกคนนั้นจะได้มีเงินล้านกันสักที

1) อานุภาพของดอกเบี้ยทบต้น

ดอกเบี้ยทบต้น พูดสั้นๆง่ายก็คือ ดอกเบี้ยของดอกเบี้ยนั่นเอง ซึ่งมีบร๊ะลานุภาพที่แสนจะยิ่งใหญ่ ทบไปทบมาก็อาจจะทำให้เรามีเงินล้านได้อย่างรวดเร็วนั่นเอง แนะนำให้อ่านเรื่องนี้เพิ่มเติมที่ ซี่รี่ย์การเงินรวยได้ไม่ง้อพ่อ 2 : ค่าของเงินตามเวลา

2) กฎแห่งเลข 72

เมื่อเรารู้จักกับดอกเบี้ยทบต้นแล้ว ทีนี้ เราลองมารู้จักกับวิธีการคำนวนผลตอบแทนที่น่าสนใจอีกวิธีหนึ่ง เรียกว่า “Rule of 72” หรือ "กฎของเลข 72"   ซึ่งกฎนี้จะใช้สำหรับการคำนวณความสัมพันธ์ระหว่างอัตราผลตอบแทนกับจำนวนปี ที่จะทำให้เงินต้นของคุณเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า โดยสูตรการคำนวณจะเป็นดังนี้  จำนวนปี = 72 / อัตราดอกเบี้ยหรือผลตอบแทน

สมมุติว่าถ้าคุณมีเงินต้นจำนวน 100,000 บาท ที่ได้รับผลตอบแทนในอัตราดอกเบี้ย 9% ต่อปี แปลว่าคุณจะต้องใช้เวลาทั้งหมด 8 ปี ถึงจะสามารถทำให้เงินต้นเพิ่มขึ้นเป็น 200,000 บาท

3) ระบบออมเงินภาคบังคับ

ถ้าหากเราเป็น “มนุษย์เงินเดือน” สิ่งหนึ่งควรเริ่มต้นออมเป็นลำดับแรกก็คือ “ระบบการออมภาคบังคับ” หรือ การออมที่กฎหมายบังคับให้เราต้องออมนั่นเอง โดยการออมประเภทนี้อยู่ในรูปของกองทุนที่เราคงคุ้นชื่อกันดี ได้แก่ เงินสมทบกองทุนประกันสังคม และ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ   สำหรับ "กองทุนประกันสังคม" นั้น เราจะถูกบังคับออมทุกเดือนในอัตรา 5% ของรายได้ โดยยอดสูงสุดที่เราออมต่อเดือนคือ 750 บาท และเงินที่เราออมนั้นจะได้รับกลับคืนไปในรูปของ “บำเหน็จ” หรือ “บำนาญ” เมื่อเกษียณนั่นเอง   หรือถ้าระหว่างนั้นเราต้องพบกับเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เช่น เจ็บป่วย ทุพพลภาพ เกิดอุบัติเหตุ ฯลฯ เราก็สามารถเบิกเงินค่ารักษาพยาบาล หรือค่าชดเชยอื่นๆ จากประกันสังคมได้ครับ   ส่วน "กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ" คือ กองทุนที่นายจ้างและลูกจ้างร่วมกันจัดตั้งขึ้น เพื่อส่งเสริมให้เกิดการออมเงิน โดยลูกจ้างจ่ายส่วนหนึ่งหรือที่เรียกว่า “เงินสะสม” ที่หักออกจากเงินเดือน และนายจ้างจ่ายเงินเข้าอีกส่วนหนึ่งหรือที่เรียกว่า “เงินสมทบ” ซึ่งปกติแล้วนายจ้างจะสมทบให้เท่ากับ หรือ มากกว่า เงินที่ลูกจ้างจ่ายสะสม   กองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะมีผู้บริหารมืออาชีพที่เรียกว่า “บริษัทจัดการ” เพื่อแสวงหาผลตอบแทนให้มากที่สุด และนำมาเฉลี่ยให้กับสมาชิกกองทุนทุกคนตามสัดส่วนของเงิน แต่ไม่มีการจ่ายเงินปันผลหรือดอกเบี้ยให้นะครับ เพราะกองทุนจะสะสมยอดเงินทั้งหมดให้เป็นก้อนใหญ่ เพื่อเก็บไว้รอจ่ายคืนให้สมาชิกที่สิ้นสุดความเป็นสมาชิก เช่น เมื่อลาออกจากงาน หรือเกษียณ   ซึ่งทั้งสองตัวที่ว่ามานี้ เป็นเครื่องมือที่สำคัญถ้าหากเราต้องการวางแผนการเงิน แต่ยังไม่รู้จะทำอย่างไร @TAXBugnoms เชื่อเลยครับว่า  "ระบบการออมภาคบังคับ" นี่แหละตอบโจทย์ที่เราต้องการที่สุดแล้ว  

4) จัดสรรเงินออมฉุกเฉิน

สำหรับเงินออมฉุกเฉินนั้น คือ เงินออมที่เราทุกคนควรมีเพื่อสร้างสภาพคล่องทางการเงินที่ดี เมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน หรือเหตุจำเป็นที่ต้องใช้เงินขึ้นมา โดยตามทฤษฎีแล้ว การมีเงินออมฉุกเฉินนั้นต้องมีอยู่ที่ประมาณ 3-6 เท่าของรายจ่ายต่อเดือนที่เราใช้นั่นเองครับถ้าหากใครยังไม่มีเงินส่วนนี้ บอกได้เลยว่าชีวิตของคุณอยู่ในความเสี่ยง ต้องระวังตัวไว้ให้ดีนะคร้าบบ   เอาล่ะ.. วันนี้เราได้รู้จักกับความรู้ทางด้านการเงินทั้ง 4 ประเภทไปแล้วในตอนนี้ สำหรับตอนต่อไปเราจะมาดูกันว่า มีอะไรที่เราควรรู้จักเพิ่มขึ้นอีก เพื่อที่จะได้วางแผนการเงินให้ถูกต้องและมีความสุขอีกด้วยครับ  

อ้างอิง : https://aommoney.com

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้